ชาชักบังวร จ.สตูล
หากพูดถึงเครื่องดื่มอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ใครๆ ก็คงนึกถึง “ชาชัก” มาเป็นอันดับต้นๆ ด้วยลีลาท่าทางการชงชาที่ฉวัดเฉวียนน่าตื่นเต้นเร้าใจ สายชาสีน้ำตาลอ่อนซึ่งไหลรินต่อเนื่องจากกระบอกชงชาที่ถูกยกขึ้นสลับซ้ายขวาเป็นจังหวะสอดคล้องพ้องประสานราวกับกำลังร่ายรำ คือ เสน่ห์ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกเพลิดเพลินจนเกินกว่าจะห้ามใจไม่ให้สั่งชาชักที่ดูน่าเอร็ดอร่อยนี้ได้ และเมื่อทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) มีโอกาสได้เดินทางลงมาเก็บข้อมูลของ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา” ณ จ.สตูล พวกเราก็ตัดสินใจว่าจะต้องหาชิมชาชักให้ได้สักครั้งหนึ่ง
|
...............ลีลา.....ชาชัก............... |
จนแล้วจนรอด.....หลังจากที่ใช้เวลาถ่ายภาพและเก็บข้อมูลของเกาะตะรุเตา , เกาะหลีเป๊ะ , เกาะอาดัง , เกาะราวี , เกาะหินงาม และเกาะอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงไปทั้งหมด 8 วัน 7 คืน ก็ถึงกำหนดการเดินทางกลับ แต่ ณ บัดนี้พวกเราก็ยังไม่มีโอกาสได้ชิมชาชักเลยแม้แต่อึกเดียว ในที่สุดพวกเราจึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะแวะร้านชาชักร้านแรกที่เห็นบริเวณ “ท่าเรือปากบารา” เมื่อเรือเร็ว (speedboat) เดินทางกลับไปถึงฝั่งแผ่นดินใหญ่
“ร้านบังวร” คือ ร้านขายชาชักและอาหารฮาลาลใกล้ๆ กับท่าเรือปากบาราที่พวกเราลองสุ่มเข้าไปนั่งสั่งอาหารและชาชักรับประทาน (“ฮาลาล” เป็นคำในภาษาอาหรับมีความหมายว่า “อนุมัติ” เพราะฉะนั้น “อาหารฮาลาล” ในศาสนาอิสลามจึงหมายถึง อาหารซึ่งพระเจ้าอนุญาตให้ทำ ดื่ม หรือรับประทานได้ตามบทบัญญัติของศาสนา)
|
ข้าวมันไก่ กับ ข้าวหมกไก่ |
แม่ครัวซึ่งทำหน้าที่ชงชาให้พวกเรานั้นเป็นเพียงแค่เด็กหญิงวัยรุ่นชาวมุสลิมตัวเล็กๆ แต่ลีลาการชักชานั้นต้องยอมรับเลยว่า..........เหลือร้าย มือสองข้างที่ยกกระบอกชงชาขึ้นลงสลับซ้ายขวาไปมาอย่างคล่องแคล่วทำให้พวกเรารับรู้ได้ทันทีว่าเธอมีประสบการณ์ในการชงชาชักมานานพอสมควรแล้ว ไม่ถึง 5 นาที ชาเย็นสีน้ำตาลอ่อนที่มีพรายฟองจำนวนมากก็ถูกยกมาวางไว้ตรงหน้า พวกเราดูดฟองชารับกลิ่นหอมอ่อนๆ เป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่จะดูดน้ำชาเย็นเข้าปากดังจ๊วบๆ ตามไปในทันที
รสชาติชาชักของร้านบังวรนั้นจะมีกลิ่นและรสของชาเด่นมากกว่าความหวาน (ไม่ค่อยหวานครับ) แต่โดยรวมๆ แล้วรสชาติก็อาจไม่แตกต่างจากชาเย็นทั่วๆ ไปสักเท่าไหร่นัก พวกเราจึงหันเหความสนใจจากการดื่มชากลับมาที่ข้าวมันไก่ , ข้าวหมกไก่ , แกงแพะ และแกงปลา (Tumi) ซึ่งวางอยู่ตรงหน้า
หากพิจารณาข้าวมันไก่ของร้านบังวรให้ดีๆ ก็จะสังเกตเห็นได้ว่าไม่มีเลือดไก่ต้มหั่นเป็นชิ้นๆ วางอยู่ในจานเหมือนข้าวมันไก่ตามปกติที่หลายๆ คนคุ้นเคย ซึ่งเหตุผลก็เนื่องมาจากการห้ามรับประทานเลือดสัตว์ตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า อาหารของร้านบังวรได้รับการปรุงอย่างถูกต้องตามหลักของการปรุงอาหารฮาลาล พี่น้องชาวมุสลิมจึงสามารถเข้ามารับประทานอาหารที่ร้านแห่งนี้ได้อย่างสบายใจ (กรณีที่พี่น้องชาวมุสลิมไม่มั่นใจในมาตรฐานการปรุงอาหาร สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากร้านบังวรได้โดยตรงตามหมายเลขติดต่อซึ่งอยู่ทางด้านล่างของบทความชิ้นนี้ครับ)
|
อาหารฮาลาล.....พระเจ้าอนุญาตให้ทำ.....พระเจ้าอนุญาตให้ทาน.....พระเจ้าประทานให้ |
หลังจากได้ทดลองชิมอาหารจนครบทุกอย่างแล้ว ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมก็ลงความเห็นว่ารสชาติของข้าวมันไก่ , ข้าวหมกไก่ และแกงแพะนั้นยังไม่ค่อยอร่อยโดดเด่นเหนือกว่าอาหารประเภทเดียวกันของร้านอื่นๆ นัก แต่ “แกงปลา (Tumi)” กลับเป็นอาหารซึ่งพวกเรารับประทานแล้วรู้สึกว่ามีรสชาติผิดแผกแปลกแตกต่างไปจากที่เคยพบเจอมาจนต้องสอบถามกับแม่ครัวผู้ปรุงว่าใส่อะไรบ้างกันแน่ ? และแม่ครัวก็ได้ให้ความกระจ่างแก่พวกเราว่าแกงปลาของร้านบังวรนั้นเป็นแกงปลาสูตรชาวมาเลเซีย มีการใส่ “ใบสมุย” ลงไปในเครื่องแกงเพื่อเพิ่มความหอม (“ใบสมุย” เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งของภาคใต้) รสชาติของแกงจะออกเปรี้ยว มัน หอมและไม่ค่อยเผ็ดร้อนแตกต่างจากแกงปักษ์ใต้โดยทั่วๆ ไป ทำให้คนต่างถิ่นซึ่งคุ้นเคยกับแกงใต้รสจัดจ้านอาจรู้สึกแปลกๆ ไปบ้างเมื่อได้มารับประทานแกงชนิดนี้ (แม่ครัวยังเสริมอีกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านบังวรเป็นชาวมุสลิมที่คุ้นเคยกับรสชาติอาหารแบบมาเลเซีย เพราะฉะนั้นเมื่อคนต่างถิ่นมารับประทานอาหารที่ร้านแห่งนี้ก็อาจรู้สึกว่ารสชาติแปลกๆ ไปบ้างครับ)
สำหรับชาวมุสลิมที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวยัง “เกาะหลีเป๊ะ” แต่กังวลว่าจะไม่สามารถหาอาหารฮาลาลรับประทานได้ ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าให้ลองเดินหา “ร้านคนเล” หรือ “ร้านรักเล” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ช่วงกลางๆ ของเกาะหลีเป๊ะดู เจ้าของร้านอาหารทั้งสองแห่งนี้จะยินดีปรุงอาหารฮาลาลให้แก่พี่น้องชาวมุสลิมรับประทานเนื่องจาก “เจ้าของร้านคนเล” นั้นเป็นลูกสาวของบังวร ส่วน “เจ้าของร้านรักเล” ก็เป็นลูกชายของบังวรนั่นเอง นอกจากนี้ร้านอาหารในเครือบังวรทุกๆ ร้านยังยินดีต้อนรับลูกค้าทุกๆ คนซึ่งไม่ใช่พี่น้องชาวมุสลิมอีกด้วย
ที่ตั้งร้านบังวร : ห่างจากทางเข้าท่าเรือปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ประมาณ 100 เมตร
โทรศัพท์ติดต่อร้านบังวร : (074) 783 – 671
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “ร้านบังวร” เมื่อ ก.พ. 2554 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
คะแนนความพึงพอใจ (หัวข้อละ 10 คะแนน)
ความสะอาด 7.0
รสชาติ 6.7
บรรยากาศ 5.5
ราคาและความคุ้มค่า 7.0
การบริการ 7.0
|
หมายเหตุ
1.การให้ความเห็นและคะแนนเป็นไปตามประสบการณ์ส่วนบุคคลของทีมงานเท่านั้น
บุคคลอื่นอาจมีความคิดเห็นแตกต่างจากนี้ได้
2.คะแนนในหัวข้อราคาและความคุ้มค่า อ้างอิงจากรสชาติ ปริมาณอาหารและความสะอาดเป็นสำคัญ
|
|